วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท

คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก

ประวัติวิทยาลัย

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท ก่อสร้างขึ้นตามแผนงานและโครงการพัฒนาการสาธารณสุขในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ เพื่อขยายสถาบันในการเพิ่มการผลิตผู้ช่วยพยาบาลและผดุงครรภ์ จึงได้พิจารณาสร้างโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาลและผดุงครรภ์ขึ้นที่อำเภอพระพุทธบาท สระบุรี ในพื้นที่ ๒๑ ไร่ การก่อสร้างได้เริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง กองงานวิทยาลัยพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงหลักสูตรการจัดการศึกษาพยาบาลเป็น ๒ ระดับ คือ หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ระดับต้น และหลักสูตรพยาบาลระดับวิชาชีพพร้อมทั้งได้ยกเลิก การผลิตผู้ช่วยพยาบาลและผดุงครรภ์ มีผลทำให้โรงเรียนผู้ช่วยพยาบาล และผดุงครรภ์พระพุทธบาท ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยพยาบาลพระพุทธบาท สระบุรี
วิทยาลัยฯ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นวิทยาลัยฯ อันดับที่ ๒๑ ของกองงานวิทยาลัยพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในปีการศึกษา ๒๕๓๒ ได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ ระดับต้น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท และมีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ พระนามาภิไธยย่อ สว ของพระองค์เป็นตราประจำวิทยาลัย

โครงสร้างบริหาร

พันธกิจ

ด้านการผลิตบัณฑิตพยาบาล

  • โดยผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพและคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์มีความรู้ มีทักษะ และความสามารถในการประยุกต์ใช้ มีความรับผิดชอบ ส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มุ่งเน้นให้นักศึกษาเป็นคนดีเรียนอย่างมีความสุขมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ที่หลากหลาย เช่น research based learning flipped classroom,co-operative learning,Case Study, Blended Learning PBL และSBL เป็นต้น นอกจากนี้วิทยาลัยได้จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรในการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาและการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เช่น การพัฒนาทักษะชีวิตและภาวะผู้นำ ค่ายจิตอาสา กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ กีฬาสัมพันธ์ เป็นต้น

ด้านวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม

  • สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านการจัดการศึกษา และการบริการสุขภาพที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและการพัฒนาระบบสุขภาพของท้องถิ่น รวมทั้งการพัฒนา ขีดความสามารถของบุคลากร ให้มีความพร้อมและมีศักยภาพทางการวิจัยที่สามารถพัฒนาคุณภาพของผลงานวิชาการให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ มีจุดเน้นการวิจัยและการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการดูแลโรคเรื้อรังได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง เช่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทุน ววน

ด้านการบริการแก่สังคม

  • การบริการแก่สังคม มุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบการบริการวิชาการด้านสุขภาพแบบครบวงจร เพื่อนำพาสู่สังคมอุดมปัญญาสุขภาวะ และมีการบริการวิชาการแบบบูรณาการกับการจัดการเรียนการสอนและการวิจัย เพื่อพัฒนาองค์กรให้เป็นคลังความรู้ด้านสุขภาพ และนำส่งความรู้ และปัญญาทางสุขภาพสู่องค์กรสุขภาพของท้องถิ่น และสู่ชุมชน ปัจจุบันมีความร่วมมือที่เข้มแข็งในการพัฒนาภาวะสุขภาพร่วมกับเทศบาลตำบลเขาพระงาม รวมทั้งการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนมีหลักสูตรระยะสั้นต่าง ๆ ปัจจุบันวิทยาลัยฯ เปิดสอนหลักสูตรอบรมระยะสั้นเฉพาะทางการผดุงครรภ์ และหลักสูตรการจัดการรายกรณีโรคเรื้อรัง

ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

  • ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มุ่งเน้นการบูรณาการงานด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมกับการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมนักศึกษารวมทั้งมีการจัดโครงการ/กิจกรรมที่อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามจุดเน้นของสถาบัน

ด้านการบริหารองค์กร

  • ด้านการบริหารสร้างมาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาและมาตรฐานวิชาชีพสภาการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดกิจกรรมการจัดการความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี มีการขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุขและส่งเสริมคุณภาพชีวิต ได้แก่ โครงการขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรม สร้างสรรค์องค์กรแห่งความสุข ประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม สำหรับอาจารย์และบุคลากร กิจกรรมพัฒนาสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยวิทยาลัยยังได้รับรางวัลสถานศึกษาปลอดภัย “ดีเด่น” ประจำปี 2564 จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งได้รับรางวัลต่อเนื่องเป็นปีที่ ๒